ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจะกลับมาเตะกันได้ตามกำหนด 30 เมษายนไหมยังลูกผีลูกคนเพราะมีการคาดการณ์ว่าเป็นไปไม่ได้เลย และอาจจะต้องขยับออกไปถึงเดือนมิถุนายนด้วยซ้ำ
ฤดูกาลที่ควรจะหาวิธีการสรุปจบให้ได้ก่อน 30 มิถุนายนตามแนวทางที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) อยากให้เป็นก็อาจจะทำไม่ได้จริงๆ
ฟุตบอลสเปนนั้นไม่รอช้าประกาศเลื่อน ลา ลีกา และลีกอาชีพของตัวเองไม่มีกำหนดไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่สนใจแนวทาง 30 มิถุนายนของยูฟ่าเลย ก็สถานการณ์ในประเทศกำลังวิกฤติกับ โควิด-19 ทั้งติดเชื้อและตายเป็นใบไม้ร่วงในแต่ละวันอย่างนี้จะให้คิดถึงแต่การเตะฟุตบอลลีกให้จบก็กระไรอยู่
ฟุตบอลสเปนจึงมีประกาศออกมาแบบนี้ และเข้าใจว่าฟุตบอลลีกของชาติอื่นๆ อาจจะทยอยประกาศตามมาเช่นกันด้วย
กับฟุตบอลอังกฤษมีความชัดเจนแค่ในเบื้องต้นว่าเป็น 30 เมษายน แต่แนวโน้มก็อย่างที่บอก นั่นคือมีความกังวลว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่พอแน่สำหรับการกลับมาทำการแข่งขันกันอีกครั้ง
ฟุตบอลจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้งคงไม่ได้ ผมเชื่อว่าพรีเมียร์ลีกเข้าใจเงื่อนไขตรงนี้อยู่แล้ว การกำหนดวันที่ 30 เมษายนเอาไว้จึงเป็นแค่เป้าหมายเบื้องต้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ได้สถานเดียว
เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์จะเป็นตัวบอกพรีเมียร์ลีกเองว่าจะทำอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ออกมาจากกลุ่มตัวแทนนักฟุตบอลที่สังกัดสมาคมนักฟุตบอลอาชีพหรือตัวย่อสั้นๆ ว่า PFA ก็ทำให้แนวทางที่ว่าอาจเจอปัญหาขึ้นมาอีก
จะฝืนไปทำไมถ้าสภาวะของ โควิด-19 ยังไม่แน่นอน
กับเงื่อนไขที่ว่าถึงอย่างไรก็คงต้องถูลู่ถูกังแข่งฟุตบอลลีกกันให้จบต่อให้ต้องเป็นการแข่งแบบปิดสนามจริงๆ นั้น เอาเข้าจริงมันจะทำได้อย่างนั้นหรือ
หรือให้ถามย้ำกันตรงๆ ก็ได้ว่า คิดว่าควรจะทำจริงๆ ใช่ไหม มันง่ายอย่างนั้นเลยหรือเปล่า
เพราะมันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับนักฟุตบอลในสนามเท่านั้น หากในเกมฟุตบอลเกมหนึ่งยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกมากต่อให้เป็นการเตะแบบสนามปิด
หน่วยรักษาความปลอดภัยที่จะต้องประจำการ การประสานของสโมสรไปยังโรงพยาบาลต่างๆ จะมีจำนวนเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความสะดวกแม้ไม่ต้องทำงานหนักมากเพราะไม่มีแฟนบอลเรือนหมื่นแต่ก็ต้องเจียดกำลังมาทำงานอยู่ดี
รถถ่ายทอดสด ช่างภาพทีวี โปรดิวเซอร์ แต่ละสนามต้องประจำการกี่คน แล้วจะมีเตะกันกี่สนามต้องคูณเข้าไปอีกกี่คนออกมาเป็นจำนวนเท่าไหร่
ยังไม่รวมเรื่องความสนใจของสังคมในเวลานั้น พวกเขาจะพุ่งสมาธิมาที่เกมฟุตบอลได้เต็มที่จริงๆ หรือ
คุณห้ามแฟนบอลเข้าสนามเพื่อจำกัดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด แต่มันก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดีใช่ไหม ยังจำเป็นถึงขนาดต้องเตะให้จบให้ได้เชียวหรือ
ถ้าต้องเตะแบบปิดสนาม หมายความว่าสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ถูกต้องใช่หรือเปล่า
ถ้าใช่.. คุณจะให้คำตอบกับครอบครัวของนักฟุตบอลแต่ละคนอย่างไร คนที่เขามีลูกมีเมียมีครอบครัวที่เป็นห่วงอยู่ข้างหลัง
คุณอาจมีคำสั่งให้แต่ละสโมสรกำชับนักฟุตบอล สตาฟฟ์โค้ช และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันให้รับผิดชอบตัวเอง กักตัวเองและรักษาความฟิตอยู่บ้าน เมื่อถึงเวลาแข่งก็เดินทางมาแข่ง
คำสั่งอาจจะออกมาได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วถ้ามองกันจริงๆ มันทำได้แน่นอนอย่างนั้นหรือ คำสั่งนี้จะปิดตายให้เปอร์เซนต์การติดเชื้อของนักฟุตบอล สตาฟฟ์โค้ช และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันให้เป็นศูนย์ได้ตลอดรอดฝั่งจริงหรือเปล่า
มาคิดๆ ดูมันก็ถูกนะครับ เกมๆ หนึ่งมีนักฟุตบอลในสนาม 22 คน มีสตาฟฟ์โค้ชและนักเตะสำรองข้างสนามรวมกันอีก 20 กว่าคน กรรมการ 4 คน แมตช์คอมมิชชันเนอร์ 1 คน ทีม VAR ที่อยู่ส่วนกลาง 3 คน
แล้วยังมีส่วนไหนอีก ทีมงานถ่ายทอดสดสัก 20 คน เด็กเก็บบอลอีก 10-12 คน (เว้นแต่จะให้นักฟุตบอลเก็บบอลกันเองเวลาบอลออกนอกสนาม) ทีมพยาบาล 3-4 คน
ตัวเลขนี้แค่คร่าวๆ ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่สนามคนอื่นๆ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดต่างๆ ไม่เว้นกระทั่งแม่บ้านทำความสะอาดในเกมนั้นๆ อีก
ประเมินเอาแบบหยาบๆ เลย กระทั่งเตะแบบปิดสนามไม่ให้แฟนบอลเข้าชมก็ยังมีคนเกี่ยวข้องร่วม 100 ชีวิต
หนึ่งเกม 100 คน แต่ละแมตช์เดย์มีสิบเกมก็ 1,000 คน.. ลดสเกลให้น้อยที่สุดต่อให้เตะสนามเดียวกัน 5 เกมรวด (เกมละ 2 ชั่วโมงรวมเป็น 10 ชั่วโมง) ใช้ทีมพยาบาล ทีมถ่ายทอดสด เด็กเก็บบอล เจ้าหน้าที่ทุกจุดชุดเดิมดูแลทั้งหมด ก็ยังต้องแบ่งกำลังคนเป็น 2 ทีม แมตช์เดย์หนึ่งๆ ก็จะมีคนเกี่ยวข้องราว 300-400 คน
อาจไม่ใช่ตัวเลขเรือนหลายหมื่นอย่างสภาวะปกติ แต่ 300-400 คนในสนามฟุตบอล รวมถึง 25 คนที่อยู่ในสนาม ใกล้ชิดกัน หายใจรดกัน ปะทะกัน ถกเถียงกัน ฯลฯ ก็คือการปฏิบัติตัวที่ตรงข้ามกับแนวทางป้องกันการระบาดของโรคโดยตรงเชียวล่ะ
แค่ผู้รักษาประตูตะโกนสั่งการเพื่อนๆ ที่ออกันอยู่ในเขตโทษยามตั้งรับลูกเตะมุมก็น่าผวาแทนเพื่อนร่วมทีมและคู่ต่อสู้แล้วนะครับ
ถ้าเราลองคิดลงไปให้ละเอียดถึงมุมนี้ การเตะแบบปิดสนามก็ยังอาจไม่ใช่คำตอบ พูดกันตรงๆ ก็คือมันเป็นทางออกที่เลวร้ายมาก เพราะทางออกนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงเป็นศูนย์
การลดความเสี่ยงลงจาก 100 เปอร์เซนต์ เหลือ 10 หรือ 5 เปอร์เซนต์ ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจะหายไป
ยิ่งกับความเสี่ยงในเรื่องชีวิต แค่เปอร์เซนต์เดียวก็สูงเกินพอ
เพราะฉะนั้นความเห็นจาก PFA จึงน่ารับฟัง และมีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างมาก
ทำไมถึงต้องดิ้นรนเตะในสนามปิด เพื่ออะไร?
เพื่อรวบรัดฤดูกาลให้จบให้ได้ ถ้าอย่างนั้นถามต่อว่าทำไมต้องรวบรัดขนาดนั้น?
ก็เพื่อให้ฤดูกาลได้บทสรุป แล้วไปตั้งหลักกันใหม่อีกที ไม่มีปัญหาเรื่องสัญญานักเตะและสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ก็ต้องถามต่อว่าสัญญาลิขสิทธิ์นี่ไม่สามารถคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เลยหรือ?
มันเป็นสถานการณ์ที่กระทบไปทั่วโลก ทุกฝ่ายได้รับความเสียหายด้วยกันหมด แต่ผู้ซื้อลิขสิทธิ์จะไม่ยอมรับความเสียหายบางส่วนเลยจะไม่เอาเปรียบกันเกินไปหน่อยหรือ
แต่หากการร่วมกันแบ่งเบาความเสียหายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไม่มีปัญหากับการเฉลี่ยความเสียหาย ก็หมายความว่าตัวผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เองไหมที่ไม่ยอมเสียอะไรเลย คือจะจ่ายเต็มจำนวนหรือจ่ายครึ่งจำนวนก็ไม่เต็มใจ จึงต้องพยายามเข็นการแข่งขันให้จบให้ได้
ผมยังมองว่าพรีเมียร์ลีกหรือฟุตบอลลีกชาติอื่นๆ ไม่ได้มีจิตใจคับแคบอะไรขนาดนั้นหรอก มันเป็นเพียงแนวทางที่ตั้งใจจะทำให้ได้ ไม่ใช่จะยึดติดแข็งกร้าวไม่ยืดหยุ่น ถ้าสุดท้ายแล้วทำไม่ได้มันก็คือไม่ได้ ค่อยตามแก้ปัญหากันไป
ได้มาพิจารณาอย่างละเอียดกับคำว่า 'ปิดสนามเตะ' อีกครั้ง.. ผมคิดว่ามุมมองของนักฟุตบอลใน PFA มีเหตุผลมาก
เตะแบบปิดสนามไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ตรงกันข้ามมันจะเป็นปัญหาถ้าหากฝืนแข่งให้จบให้ได้โดยสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์
ถ้าสถานการณ์ยังเตะแบบสนามเปิดไม่ได้ก็ไม่ต้องเตะเลย ไม่ต้องกั๊กเตะแบบปิดสนาม
ถ้าไม่ร้อยเปอร์เซนต์ก็ไม่ต้องเตะ เตะไปก็ไม่มีประโยชน์ในแง่สาธารณสุข มีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดเปล่าๆ
ยิ่งพูดก็ยิ่งถูก ยิ่งคิดตามก็ยิ่งเห็นด้วย
พรีเมียร์ลีกและลีกอื่นๆ ก็คงต้องนำความเห็นนี้กลับไปคิดเช่นกันนะครับ ว่ามันคุ้มเสี่ยงไหมกับการเข็นฤดูกาลให้จบด้วยการปิดสนามเตะบนความเสี่ยงแม้จะแค่เปอร์เซนต์เดียว..
#ดัดแปลงบางส่วนจาก "เตะแบบปิดสนามแก้ได้?" #คอลัมน์บนเส้น18หลา
#หนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563
ตังกุย