เวย์น รูนีย์ สตาร์ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ออกมาตำหนิ แม็ตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ และพรีเมียร์ลีก เกี่ยวกับกรณีที่พยายามกดดันให้ผู้เล่นลดค่าจ้างในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพรีเมียร์ลีกเสนอให้สหภาพผู้เล่นยอมรับมาตรการลดค่าเหนื่อย 30 เปอร์เซนต์ แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปตกลง
ขณะที่ แฮนค็อก ออกมาสัมภาษณ์กดดันให้นักฟุตบอลอาชีพลดค่าแรงเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือสังคม
กลายเป็นประเด็นร้อนของวงการฟุตบอลอังกฤษในช่วงที่ผ่านมา และตอนนี้สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษก็ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือกับทางลีกเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้
รูนีย์ พูดถึงประเด็นนี้ผ่านมา The Times ว่า "เรื่องแรกที่จะพูดคือหากดาร์บี้ เคาน์ตี้ต้องการให้ผมลดค่าจ้างเพื่อช่วยเหลือสโมสร ผมก็เข้าใจและพยายามที่จะช่วยเหลือพวกเขาทุกอย่างที่สามารถทำได้ และถ้ารัฐบาลติดต่อให้ผมช่วยเหลือการเงินของเจ้าหน้าที่พยาบาลหรือซื้อเครื่องช่วยหายใจ ผมคงภูมิใจมากที่จะช่วย ตราบใดที่ผมรู้ว่าเงินตัวเองจะไปอยู่ตรงไหน"
"แต่ผมเองก็ไม่ใช่ตัวแทนของทุกคน ผมอายุ 34 ปี ผมมีเส้นทางอาชีพที่ยาวนานและได้รับเงินอย่างดี ผมอยู่ในจุดที่ผมสามารถเสียสละบางอย่างได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ในสถานะเดียวกันนี้ แต่ถึงอย่างนั้นอยู่ๆ นักเตะอาชีพทั้งหมดกลับถูกผลักให้ไปอยู่ในจุดที่ถูกเรียกร้องให้ลดเงิน 30 เปอร์เซนต์ ทำไมอยู่ๆ นักฟุตบอลถึงตกเป็นแพะรับบาป?"
"สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมามันอัปยศมาก อย่างแรกเลย รัฐมนตรีสาธารณสุข แม็ตต์ แฮนค็อก ที่ออกมาอัพเดตสถานการณ์โคโรน่าไวรัสรายวัน บอกว่านักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกควรลดค่าจ้าง ทั้งที่ควรอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยเจอในช่วงชีวิตของเรา ทำไมเงินของนักฟุตบอลถึงไปอยู่ในหัวของเขา? เขาอยากจะเบี่ยงประเด็นความสนใจไปจากความสามารถของรัฐบาลตนเองในการรับมือกับการแพร่ระบาดเหรอ?"
"จากนั้นพรีเมียร์ลีกประกาศว่าเตรียมที่จะให้ผู้เล่นยอมลดค่าเหนื่อย 30 เปอร์เซนต์ เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยที่เจ้าของทีมและพรีเมียร์ลีกรู้อยู่แล้วว่าผู้เล่นได้มีการหารือกันอย่างจริงจังอยู่แล้วว่าพวกเขาควรจะช่วยอย่างไร สำหรับผมมันแปลกมากเพราะการหารือตัดสินใจเรื่องอื่นๆในสถานการณ์นี้เป็นไปแบบไม่เปิดเผย แต่เรื่องนี้(ผู้เล่นลดค่าเหนื่อย)กลับถูกประกาศเป็นสาธารณะ ทำไมกัน? มันทำให้รู้สึกเหมือนว่าเพื่อทำให้ผู้เล่นอับอาย เพื่อบังคับให้พวกเขาจนมุมยอมรับการสูญเสียรายได้"
"EFL คงจะรอดูการตกลงของพรีเมียร์ลีกก่อน ในฐานะกัปตันทีมดาร์บี้ ผมคงต้องได้มีหารือแบบเดียวกันกับกัปตนทีมพรีเมียร์ลีก ที่พวกเขาเป็นตัวแทนของทั้งทีมในการถูกเรียกร้องให้ลดเงิน แต่ในฐานะกัปตันทีม ผมจะรู้เบื้องหลังการเงินของเพื่อนร่วมทีมตัวเองได้อย่างไร?"
"แชมเปี้ยนชิพมันต่างจากพรีเมียร์ลีก ทีมเรามีผู้เล่นคนหนึ่งอาศัยอยู่กับแม่ที่หมู่บ้านอาคารสงเคราะห์ ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นอะไร เขาเป็นคนที่ผมคิดว่าคงต้องมีภาระในการจ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับทั้งครอบครัว เขาเป็นนักฟุตบอลก็จริงแต่เขาก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันกับคนอื่นๆในประเทศในตอนนี้"
"เขาเป็นดาวรุ่งและไม่ได้มีเวลาในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน การลดค่าจ้างอาจจะโอเคสำหรับผม แต่สำหรับเขาล่ะ? 30 เปอร์เซนต์ของ 2,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ มันทำให้เขาเสียไป 600 ปอนด์เลยนะ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเงินที่ครอบครัวของเขาใช้ในการดำรงชีวิตต่อไป"
"จำได้ไหมว่าเส้นทางอาชีพของนักเตะมันสั้น เพราะงั้นพวกเขาอาจจะต้องทำการลงทุนหรือเก็บออม โดยส่วนใหญ่จะต้องแขวนสตั๊ดกันตอนอายุ 35 ปี"
"แน่นอนว่าพรีเมียร์ลีกจ่ายมากกว่าในหลายๆเคส แต่มันยังมีผู้เล่นดาวรุ่งที่ไม่ได้รับแบบนั้นจนสามารถที่จะเสีย 30 เปอร์เซนต์ได้"
ก่อนจะบอกต่อว่า "สำหรับการที่พรีเมียร์ลีกประกาศข้อเสนอออกมานั้น มันเพิ่มความกดดันให้ผู้เล่น และในความเห็นผมตอนนี้มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีผู้ชนะ ถ้าผู้เล่นออกมาบอกว่าพวกเขาไม่สามารถยอมรับหรือไม่ต้องการลดเงิน 30 เปอร์เซนต์ ถึงแม้ว่าเหตุผลที่แท้จริงคือมันจะไปทำให้บางคนมีปัญหา แต่สุดท้ายมันจะถูกเสนอออกมาในแง่ที่ว่า -ผู้เล่นรวยๆ ปฏิเสธที่จะลดเงินค่าจ้าง- "
"สิ่งที่ไม่ควรถูกลืมคือนักฟุตบอลบริจาคเงินให้การกุศลไปเยอะมากแล้ว เราช่วยเหลือสังคม ผมไม่ชอบที่จะพูดถึงสิ่งที่ตัวเองทำหรอก แต่ตลอดอาชีพผมช่วยเหลือการกุศลมากมายซึ่งมันมีความหมายบางอย่างต่อผม หายนะครั้งนี้มันส่งผลทั้งโลก เราทุกคนคือมนุษย์ การตกเป็นเป้าโจมตีแบบนี้ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ผมเป็นห่วงผู้เล่นบางกลุ่ม โดยเฉพาะดาวรุ่ง"
"สโมสรใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เล่นลดค่าจ้าง คุณจะบอกผมเหรอว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ แมน ซิตี้ ต้องการ 30 เปอร์เซนต์ของค่าจ้างนักเตะเพื่อให้อยู่รอด? ถ้ามันเป็นแบบนั้นนะฟุตบอลคงอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่มากกว่าที่เราจะจินตนาการแล้วล่ะ"
"ถ้ามันไม่ใช่เพราะการอยู่รอดของสโมสรแต่เป็นการเปลี่ยนเงินไปช่วยให้ส่วนที่สำคัญ ผมรู้ได้จากประสบการณ์มากมายของตัวเองในห้องแต่งตัวว่าผู้เล่นจะเป็นกลุ่มแรกเสมอที่พูดว่าเราจำเป็นต้องทำบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้"
"เราต้องไม่ลืมว่านักฟุตบอลมาจากทั่วโลก และผู้เล่นบางคนก็คงมีไอเดียที่แตกต่างออกไปในการใช้เงินที่ตัวเองต้องยอมสละ คุณจะมีผู้เล่นชาวแอฟริกันที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะอยากช่วยเหลือบ้านเกิดของพวกเขา และผมมั่นใจว่านั่นเป็นเรื่องจริงสำหรับผู้เล่นต่างชาติหลายคน เราไม่ควรเคารพพวกเขาเหรอ?"
"ตามที่ผมเข้าใจ พรีเมียร์ลีกจะมอบเงิน 20 ล้านปอนด์ให้ NHS และนั่นเป็นสิ่งที่ควรปรบมือให้ แต่ในความเป็นจริงนั่นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับ 500 ล้านปอนด์ ที่ PFA บอกว่าสโมสรจะประหยัดลงไปในมาตรการลดค่าจ้าง"
"ผมรู้ว่าการที่เขียนเรื่องนี้คนจะชี้นิ้วมาที่ผมแล้วพูดว่า -นายได้เงินมาตลอดอาชีพแล้วนี่- ผมรู้ว่ามันเกี่ยวกับผม แต่ผมไม่ได้พูดถึงตัวเอง ผมพูดถึงนักฟุตบอล พูดถึงคนที่ผมได้ใช้ห้องแต่งตัวด้วย แรงกดดันที่พวกเขาได้รับมันเป็นอะไรที่รับไม่ได้ และผมต้องออกมาพูดแทนพวกเขา"
"ตอนนี้มันเหมือนการเผชิญหน้ากัน เหมือนกับว่ารัฐบาล, พรีเมียร์ลีก, สื่อ จัดฉากให้ผู้เล่นเสียหาย"